top of page

BLOG

LEARN & SHARE
ค้นหา

ทำไมถึงยังเทลาเต้อาร์ตไม่ได้ซักที ทั้งๆที่ทำตามใน Youtube ?

ในส่วนนี้จะมีผลต่อเนื่องมาจากพื้นฐานการตีฟองนม หรือการสตีมนม ซึ่งคำว่า Latte Art นั้นหลายคนเข้าใจว่าจะทำได้กับเฉพาะเมนู Caffe Latte เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วสามารถทำได้กับทุกเมนูร้อนที่ใช้นมตีให้เกิดฟองเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็น Cappuccino, Mocha, Piccolo Latte หรือ Hot Chocolate เพียงแต่ว่า เราจะต้องควบคุมปริมาณฟองนมให้มีความหนาเหมาะสมตามแบบฉบับของเมนูนั้นๆด้วย


เนื่องจากสิ่งที่เราจะต้องนำมาใช้วาดเป็นลวดลายต่างๆบนหน้าเครื่องดื่มนั้นก็คือ “ฟองนม” ซึ่งถ้าเรายังไม่สามารถควบคุมปริมาณ และตีฟองนมให้เนียนอยู่ในระดับ Micro Foam ได้แล้ว การทำ Latte Art นั้นก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งยังทำให้เครื่องดื่มดูไม่น่ารับประทานอีกด้วย

ภาพเปรียบเทียบ ฟองนมที่หนา และหยาบเกินไป กับ ฟองนมที่เนียนละเอียดระดับ Micro Foam




หลักการตีฟองนมให้เนียนได้ระดับ Micro Foam


  1. เริ่มจากการจุ่มก้านสตีมให้ถูกตำแหน่ง โดยตำแหน่งที่เหมาะสม จะเอียงออกมาจากกึ่งกลางของเหยือกนมเพียงครึ่งเดียว และระวังไม่ให้ปลายก้านสตีมชนกับผนังเหยือก (คือจะอยู่ระหว่างจุดศูนย์กลาง กับขอบของเหยือก)

  2. ปลายก้านสตีมจะจุ่มลงในน้ำนม ลึกประมาณ 1 ซม.เท่านั้น เมื่อเปิดก้านสตีมแล้ว ไอน้ำจะผลักนมในเหยือกหมุนเป็นวงกลมไปในทิศทางเดียวกัน

  3. จากนั้นให้ขยับเหยือกลงเล็กน้อยในท่า และองศาเดิม เราจะได้ยินเสียงดังซิปๆเกิดขึ้น แสดงว่าไอน้ำกำลังทำหน้าที่ตีผิวหน้านมให้เกิดฟองนั่นเอง

  4. ถ้าต้องการปริมาณฟองมาก ก็เพียงแต่ดึงลงให้มีเสียงซิปเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่งแล้วนิ่งไว้ เพื่อให้นมถูกตีจนเนียนละเอียดขึ้นเรื่อยๆ

  5. จากนั้นเมื่อนมร้อนขึ้น จนอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 65 องศา จึงทำการปิด เนื่องจากเป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะแก่การดื่ม เป็นอุณหภูมิที่ทำให้นมหอม และเกิดรสชาติอมหวานเพิ่มขึ้นเองตามธรรมชาติอีกด้วย



นอกจากความสำคัญในส่วนของฟองนมแล้ว อีกส่วนที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน ก็คือ Espresso ซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกันในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อายุของเมล็ดกาแฟ / ระดับการคั่ว / ช็อตกาแฟที่ไหลเป็น Perfect Shot หรือไม่ รวมไปถึงรูปแบบชนิดของช็อตกาแฟที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็น Espresso หรือ Double Ristretto / รูปทรงของแก้วกาแฟ / เหยือกนมที่ใช้เท / อุณหภูมิของนมที่สตีมมา เป็นต้น

ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมา ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการเทแต่ละครั้งทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดบกพร่องไป นั่นหมายถึงว่า นอกจากฝีมือการเทลายของเราแล้ว วัตถุดิบและอุปกรณ์ยังส่งผลให้การเท Latte Art ขณะนั้นทำได้ยาก หรือไม่ได้เลยก็ได้




นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมดู Youtube แล้วถึงยังทำไม่ได้ซักที เพราะกาแฟ 1 แก้วที่มีลวดลาย Latte Art สวยๆ มองดูเหมือนทำง่าย แต่ความจริงต้องใช้ความเข้าใจในรายละเอียดทุกจุดประกอบกันขึ้นมา รวมทั้งยังต้องหมั่นฝึกฝนให้ชำนาญในการเทลาย
ยังไม่นับรวมว่า Youtube นั้นไม่สามารถสื่อสารกับคนดูได้ว่า ขณะที่เราเทลายอยู่ องศาปากเหยือก ข้อมือ แขนถูกต้องหรือไม่ และหลังจากเทเสร็จแล้ว ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า มีข้อผิดพลาดจุดไหน หรือควรปรับแก้ไขใหม่อย่างไรให้ถูกต้องในแก้วต่อๆไป ซึ่งในผู้ฝึกระดับเบื้องต้น ยังไม่สามารถมองออกได้เอง

ฉะนั้นอย่ามัวแต่ดู Youtube แล้วบ่นว่าทำไมถึงยังเทไม่ได้ซักที ทั้งที่หมดนมไปหลายแกลลอนแล้ว หรือคิดว่าเทตามไปเรื่อยๆเดี๋ยวมันก็ได้เอง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด ทำให้เราพัฒนาได้ช้า เนื่องจากแต่ละคนมีจุดบกพร่องแตกต่างกัน การที่มีครูคอยสอนแบบใกล้ชิด ทำให้สามารถบอกได้ว่า ใครมีปัญหาจุดไหน และควรจะแก้อย่างไร จุดนี้เองการดู Video จึงไม่สามารถตอบโต้ หรือบอกเราได้ว่าทำไมลายถึงไม่ขึ้นสวยซักที และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราทำตาม Video ได้เหมือนเป๊ะ! 100%


ลองคำนวณค่าวัตถุดิบที่เสียไปเล่นๆว่ากว่าจะเทได้สวยซัก 1 ลาย 1 แก้ว อาจจะมากกว่าค่าเรียน 1 ครั้งด้วยซ้ำ การมาเรียนจึงเปรียบเสมือนการย่นระยะเวลาฝึกซ้อม และต้นทุนวัตถุดิบที่จะเสียไปได้ อีกทั้งจะเห็นปัญหาบางจุดที่เราไม่เคยรู้ตัว และยังได้เรียนรู้เทคนิคจากผู้สอนที่มีประสบการณ์กลับไปใช้ในการฝึกฝนต่อเองอีกด้วย


อีกประการสำคัญ ที่มักจะย้ำกับนักเรียนเสมอก็คือ การมาเรียนแล้วสามารถเทได้สวยเลย นั่นก็เป็นสิ่งดี แต่ไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริง เนื่องจากเวลานักเรียนกลับไปซ้อมเองที่ร้าน จะมีปัจจัยที่แตกต่างจากที่เรียนอีกมาก ดังเช่นที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีผลกับการเทลายทั้งสิ้น

ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ นักเรียนต้องสามารถวิเคราะห์ และจดจำให้ได้เวลาเรียน ว่าปัญหาที่มักพลาด เกิดขึ้นบ่อยคืออะไร มีวิธีแก้อย่างไร และสามารถนำกลับไปปรับใช้ได้ เมื่อเวลาซ้อมด้วยตัวเองที่ร้าน นี่ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเองให้สามารถเทลายได้สวยขึ้นในทุกแก้ว ถ้าเรายังเทแบบเดิมๆ ไม่คิดวิเคราะห์ว่าเราพลาดอะไรไป แล้วแก้ไข ผลลัพธ์ก็จะออกมาไม่สวยแบบเดิมๆร่ำไปนั่นเอง



#สตีมนมอย่างไร #ฝึกเทลาเต้อาร์ต #ทำไมเทลาเต้อาร์ตไม่ได้

ดู 6,127 ครั้ง

Comments


bottom of page